มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ หอประชุมคุณหญิงประยงค์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลประกวดเว็บครู.ไทย โดยในปีนี้คัดเลือกจากครูที่ผ่านการประกวดระดับศูนย์อบรมทั่วประเทศ 11 คน ที่มุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาคุณภาพในรูปแบบที่เข้าถึงได้สะดวกและปลอดภัย ภายในประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 มีการคัดเลือกจากครูที่เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร "การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 700 คนจาก 11 ศูนย์อบรมทั่วประเทศ โดยได้มีการคัดเลือกผู้ชนะในระดับศูนย์อบรมจำนวน 11 รางวัล และจากนั้นได้คัดเลือกผู้ชนะในระดับประเทศ ได้แก่ นางสาวโสภา โคตรสมบัติ ผู้สร้างเว็บไซต์ “www.ครูโสออนเลิร์น.ไทย” จากศูนย์นครราชสีมา ได้รับรางวัลชนะเลิศ, นางสาววรวรรณ พุทธิพัฒน์ ผู้สร้างเว็บไซต์ “www.ครูออย.ไทย” จากศูนย์อยุธยา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง, และนางสาวศศิธร เขียวกอ ผู้สร้างเว็บไซต์ “www.วิทย์ครูนก.ไทย” จากศูนย์กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง นางสาวโสภา โคตรสมบัติ กล่าวว่า เว็บไซต์ www.ครูโสออนเลิร์น.ไทย ก่อตั้งขึ้นในช่วงโควิด-19 เพื่อตอบสนองการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมีการปรับปรุงเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนแต่ละวัย ทั้งในด้านโครงสร้างและกราฟิก รวมถึงการนำเสนอการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทนการใช้กระดาษ นักเรียนสามารถทำใบงานผ่าน Google Slides และอัปโหลดผลงานขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งช่วยให้เรียนรู้การใช้งาน Google Slides โดยไม่ต้องแยกสอนทักษะนี้ เว็บไซต์รองรับการดาวน์โหลดไฟล์หลายประเภท เช่น JPEG, MP4, และ PDF ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ความแตกต่างของไฟล์ต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถศึกษาคลิปวิดีโอการสอนจากช่องยูทูป หรือดาวน์โหลดเอกสารความรู้ในรูปแบบ PDF ที่กระชับและเข้าใจง่าย นางสาววรวรรณ พุทธิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เว็บไซต์ www.ครูออย.ไทย เกิดขึ้นจากการที่วิชาที่ตนสอนเป็นวิชาที่เน้นการปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งนักเรียนอาจจะเรียนไม่ทันหรือลาเรียน ทำให้ไม่สามารถตามทันเนื้อหาของบทเรียนได้ ทั้งนี้เนื่องจากครูสอนในห้องเรียนต่าง ๆ โดยมีครูคอมพิวเตอร์มาช่วยสอนเพิ่มเติม จึงมีความคิดที่จะสร้างสื่อการเรียนรู้ที่สามารถใช้งานได้ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน โดยสามารถแชร์สื่อร่วมกันกับครูท่านอื่น ๆ ได้ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนหลายรูปแบบ เช่น ห้องเรียนเสมือน เมตาเวิร์ส การส่งงานผ่านแชทบอทและทดสอบออนไลน์ แต่เนื่องจากช่องทางต่าง ๆ กระจัดกระจายและอาจทำให้เกิดความสับสน นักเรียนไม่รู้จะเข้าช่องทางไหน จึงมีความคิดที่จะสร้างเว็บไซต์เพื่อรวบรวมสื่อทุกอย่างไว้ในที่เดียว โดยใช้ Google Sites ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นางสาวศศิธร เขียวกอ กล่าวอีกว่า www.วิทย์ครูนก.ไทย จุดเริ่มต้นช่วยแรกไม่ได้สนใจทำเว็บไซต์เพราะคิดว่ายากและต้องเขียนโค้ด แต่หลังจากช่วงโควิดที่ต้องทำคลิปสอนและจัดเก็บสไลด์กับเอกสารการสอน จึงเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการเนื้อหาอย่างเป็นระบบ โดยเน้นออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะกับนักเรียนและครู เนื้อหาถูกออกแบบให้เข้าใจง่าย มีดีไซน์สีสันที่ดึงดูดใจ ส่วนตัวหนังสือใช้แบบที่เหมาะสำหรับเด็กประถมเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งหลังจากทำไม่ไม่นานก็ได้ผลตอบรับจากนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพราะสามารถดูคลิปซ้ำเพื่อทบทวนบทเรียนได้สะดวก มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ซึ่งดูแลการจัดการชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย ทั้ง .th และ .ไทย ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นปีที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับชื่อโดเมนและพัฒนาทักษะการสร้างเว็บไซต์ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้งานจริงและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เรียน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและสังคมในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ "ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างปลอดภัย ลดภัยคุกคามต่อเว็บไซต์โรงเรียนและเว็บครู" ดำเนินรายการโดย นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล ผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวถึงแนวทางการป้องกันภัยไซเบอร์สำหรับเว็บไซต์ภาครัฐ โดย ดร.ธีรวัฒน์ โรจนไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญมาตรฐานดิจิทัลภาครัฐ สพร. แนะนำให้เริ่มจากการใช้เว็บไซต์รหัสประเทศไทย พร้อมด้วยการตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อนและอัปเดตแอนตี้ไวรัสเป็นประจำ พร้อมทั้ง ดร.ปาริชาติ เภสัชชา หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. เน้นว่าครูต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการสร้างคอนเทนต์บนเว็บไซต์ พร้อมอบรมเรื่องภัยไซเบอร์ และเรียกร้องให้มีซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยใช้งานง่าย ขณะที่ นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ แนะนำให้ครูสร้างเว็บไซต์ของตนเอง นำเสนอคอนเทนต์เชื่อมโยงท้องถิ่นและใช้สื่อออนไลน์เพื่อกระจายข้อมูล ดร.เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการตรวจสอบตัวตนในการลงทะเบียนชื่อโดเมนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในโลกออนไลน์ พร้อมแนะนำการใช้แพลตฟอร์ม Google Sites ที่เหมาะสมสำหรับครูในการสร้างเว็บไซต์ที่ใช้งานง่ายและปลอดภัย โดยมุ่งเน้นให้ครูมีบทบาทในการสร้างเนื้อหาและการแบ่งปันความรู้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการสร้างเครือข่ายครูที่มีผลงานเว็บไซต์ต้นแบบที่มีคุณภาพโดยการคัดเลือกจากการจัดประกวดขึ้นมาที่เครือข่ายครูนี้จะช่วยเหลือด้านคอนเทนต์และแก้ไขปัญหาในการทำเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ยังมุ่งหวังที่จะขยายเครือข่ายครูและส่งเสริมการใช้ชื่อโดเมน .ไทย โดยเปิดรับสมัครครูทั่วประเทศให้เข้าร่วมโครงการ และลดค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการใช้ชื่อโดเมนเพียง 200 บาท สำหรับครู และมอบทุนเพื่อสร้างเว็บไซต์ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กผ่านโครงการ www.เว็บศึกษา.ไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ดิจิทัลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น